ประวัติความเป็นมา


  •   2021-03-19 10:15:05    588  

   

ประวัติศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย

ปลายปี 2496 หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์ อธิบดีกรมการข้าว ขณะนั้นส่งคณะสำรวจเพื่อคัดเลือกหาพื้นที่จัดตั้ง“สถานีขยายพันธุ์ข้าว” ในจังหวัดเชียงรายซึ่งขณะนั้นพะเยามีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงรายคณะสำรวจประกอบด้วยศ.แฮรี่เอชเลิฟมร.เจอาร์ไทเซิลล์มร.อีอาร์บรู๊คดร.สละทศานนท์และดร.ครุยบุญยสิงห์คณะทำงานสำรวจพื้นที่ไว้ 3 แห่ง ได้แก่ จุดแรก บ้านแม่ต๋ำบุญโยง ต.แม่กา อ.พะเยา บริเวณ กม. 625-626  จุดที่สอง บ้านแม่คำ ต.แม่คำอ.แม่จัน ระหว่างลำน้ำแม่คำด้านตะวันตกขึ้นไปจนถึงบ้านห้วยไคร้   จุดที่สามบริเวณบ้าน

ป่ากว๋าวต.เมืองพานอ.พานบริเวณกม.ที่ 781 คณะผู้สำรวจพิจารณาเห็นว่าจุดที่สามเป็นทำเลที่สามารถขยายได้ไม่ไกลจากโครงการชลประทานแม่ลาว การคมนาคมขนส่งสะดวกเหมาะสมกว่าอีกสองจุดที่เหลือ จึงเลือกจุดที่สาม ดร.ครุย บุณยสิงห์ หัวหน้ากองบำรุงพันธุ์มอบหมายให้ นายวิสิษฐ์ ปัญญาธรรม พนักงานข้าวจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ติดต่อขอซื้อที่ดินของราษฎรตั้งแต่ปี 2496 ต่อมาปี 2498  นายใหญ่  ศิริยะราช  เป็นผู้ดำเนินการต่อคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินที่กรมการข้าวแต่งตั้งประกอบด้วย

          (1) นายสมาส  อมาตกุล  ปลัดจังหวัดเชียงราย

          (2) นายจรูญ  ธนสังข์  นายอำเภอพาน

          (3) นายสละ  แสงสุกใส  ที่ดินอำเภอพาน

          (4) นายใหญ่  ศิริยะราช  หัวหน้าแผนจัดสรรมาตรฐานข้าว

          (5) นายวิเชียร  ทรงธนศักดิ์  พนักงานข้าวอำเภอพะเยา

          (6) นายชัยรัตน์  ณรงค์รักษ์  พนักงานข้าวอำเภอพาน

         ราษฎรที่ให้ความร่วมมือดำเนินการรวบรวมและจัดซื้อที่ดินได้แก่นายอินหวัน  สาคำ  นายอ้าย กันธิยะ รวบรวมเอกสารรังวัดที่ดินและจัดซื้อที่ดินได้ทั้งสิ้น 245ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา  และเปิดดำเนินการ วันที่ 15 เมษายน 2498  ตอนแรกใช้ชื่อว่า“สถานีขยายพันธุ์ข้าวพาน”สังกัดกองบำรุงพันธุ์กรมการข้าวกระทรวงเกษตรข้าราชการที่ปฏิบัติงานใน พ.ศ.๒๔๙๘  มีรายนามดังนี้

          (1) นายใหญ่  ศิริยะราช  พนักงานข้าวโททำหน้าที่หัวหน้าสถานี

          (2) นายวัชรินทร์ ณ ลำปาง  พนักงานข้าวจัตวา

          (3) นายบุญส่ง วรรณรัตน์  พนักงานข้าวจัตวา

          (4) นายชูเกียรติ์ เชาวสันต์  พนักงานข้าวจัตวา

         ปีแรกที่ดำเนินการยังไม่มีการปลูกข้าวเป็นงานก่อสร้างอาคารและปรับปรุงพื้นที่นาปีพ.ศ. 2499 เริ่มปลูกข้าวเพื่อขยายพันธุ์ พันธุ์ข้าวที่ปลูกระยะแรกเป็นข้าวพื้นเมืองที่ชาวนานิยมปลูกได้แก่ เหลืองใหญ่34 แก้วขาว11 ลายหลวง17 ผา23 เป็นต้น ปี พ.ศ. 2502  นอกจากงานปลูกข้าวพันธุ์คัดพันธุ์หลักเพื่อจัดสรรตามหน้าที่หลักแล้วเริ่มทำงานด้านการทดลอง ได้แก่ การรวบรวมพันธุ์ข้าวการศึกษาพันธุ์ข้าวการเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวนอกจากข้าวแล้วยังมีการทดลองเรื่องข้าวสาลีเปรียบเทียบพันธุ์มันเทศการรวบรวมและทดลองพืชไร่ เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดไร่ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วพุ่ม ถั่วกำมะหยี่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสงปอ แก้วปอ กระเจา ปอเทือง และงานทดลองเรื่องปุ๋ยตามที่กองวิทยาการมอบหมาย ปี พ.ศ. 2502  เปลี่ยนชื่อจาก“สถานีขยายพันธุ์ข้าวพาน” เป็น “สถานีทดลองพาน” เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ทำงานทดลองด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากการขยายพันธุ์ข้าว

          การปฏิรูประบบราชการพ.ศ.2515 จัดตั้งกรมวิชาการเกษตร โดยรวมกรมการข้าวกับกรมกสิกรรม กองการข้าว เป็นหน่วยงาน สังกัดกรมวิชาการเกษตร “สถานีทดลองพาน” เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีทดลองข้าวพาน” สังกัดกองการข้าว กรมวิชาการเกษตร

          ปี พ.ศ. 2525 ยกระดับ“กองการข้าว”เป็น“สถาบันวิจัยข้าว”สถานีทดลองข้าวพาน เป็น สถานีทดลองในเครือข่ายศูนย์วิจัยข้าวแพร่

          ปี พ.ศ. 2545 เพื่อความเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ และสถานที่ตั้งของจังหวัด กรมวิชาการเกษตรมีความเห็นให้เปลี่ยนชื่อ “สถานีทดลองข้าวพาน” เป็น “สถานีทดลองข้าวเชียงราย” 

          ปี พ.ศ. 2546 การปรับโครงสร้างภายในของกรมวิชาการเกษตร “สถานีทดลองข้าวเชียงราย” เปลี่ยนชื่อเป็น“ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย1”สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่1 จังหวัดเชียงใหม่

         ปี พ.ศ.2547 คำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 1359/2547 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2547

เรื่องการปรับปรุงการแบ่งงานภายในกรมวิชาการเกษตร“ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย1”รวมกับ“ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย2”เปลี่ยนชื่อเป็น

“ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย” สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่1 จังหวัดเชียงใหม่

          ปี พ.ศ. 2548 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้ง“สำนักงานข้าวแห่งชาติ”ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานเกี่ยวกับข้าวอย่างครบวงจร“ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย”เปลี่ยนชื่อเป็น“ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย” สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาสำนักงานข้าวแห่งชาติ

          ปี พ.ศ. 2549 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมให้จัดตั้ง“กรมการข้าว”เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 “ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย”เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์